Sem Pringpuangkeo Foundation

โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน


ความเป็นมา

ในปี 2559 มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ได้เริ่มดำเนินโครงการ “สร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง” เพื่อรณรงค์ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมในกลุ่มเยาวชน โดยในระหว่างการดำเนินงาน ทางโครงการได้พบประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นหลายประการ อาทิเช่น ขาดการดูแลเอาใส่ใจจากผู้ปกครอง ไม่รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ คบเพื่อนที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม ขาดภาวะผู้นำ รวมถึงมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน จึงนำไปสู่การหาวิธีแก้ไขปัญหาของเยาวชนเหล่านี้ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมดังต่อไปนี้

  1. การทำเกษตรกรรมอัจฉริยะและการพัฒนาการเกษตรเพื่อให้เด็กและผู้ปกครองได้อยู่ร่วมกัน ได้บริโภคอาหารที่สะอาดและปลอดภัย หรือมีโอกาสพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนได้อีกด้วย
  2. การเล่นกีฬาและการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมและคุณธรรม
  3. การเสริมสร้างทักษะความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี

 

วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ผ่านกิจกรรมด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. กีฬา (โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล เนื่องจากกีฬาฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มเยาวชน) การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ คุณธรรมและจริยธรรม
  2. การส่งเสริมด้านเกษตรกรรม
  3. การเรียนรู้เกี่ยวกับสาขาอาชีพ
  4. การเสริมสร้างทักษะความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี

 

กลุ่มเป้าหมาย

โครงการได้คัดเลือกเยาวชน ที่มีความสามารถ และความสนใจด้านต่าง ๆ เช่น กีฬา เทคโนโลยี รวมถึงเด็กที่มีปัญหาใช้เวลาว่างไปโดยเปล่าประโยชน์ที่มีความสนใจที่จะเสริมทักษะความรู้ของตนเอง

 

เนื้อหากิจกรรมของโครงการ

โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ต้องการให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น

กีฬา โดยการร่วมฝึกฝนฟุตบอล ปั่นจักรยาน เล่นวอลเลย์บอล วิ่ง เป็นต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกายและเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย

ศิลปวัฒนธรรม เยาวชนได้เรียนรู้จากแหล่งผลิตงานศิลปะที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง เช่น บ้านดำ จังหวัดเชียงราย พิพิธภัณฑ์เรือนผ้าย่ายาย จังหวัดอุทัยธานี การทอผ้าฝ้ายย้อมธรรมชาติที่กลุ่มทอผ้า จังหวัดยโสธร เป็นต้น

ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติตามแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ถึงการพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ระบบนิเวศ ความสำคัญของแหล่งน้ำ ป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า เช่น สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่ลาว จังหวัดเชียงราย  อ่างเก็บน้ำกกกุง อ่างเก็บน้ำหลุบหนองนอ จังหวัดยโสธร อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการศึกษาชีวิตสัตว์ป่า ช้าง กระทิง วัวแดง นก และหุบป่าตาด จังหวัดอุทัยธานี เพื่อศึกษาพันธุ์ไม้โบราณ ดึกดำบรรพ์ ป่าดงดิบที่มีพันธุ์ไม้แปลกตา เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ เยาวชนได้ศึกษาจากพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน และสถานที่สำคัญในท้องถิ่น เช่น ในจังหวัดเชียงราย ได้ไปศึกษาเรียนรู้หอพลับพลาเจ้าดารารัศมี หอฝิ่น และศึกษาเมืองเก่า วัดต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

คุณธรรมจริยธรรม เยาวชนได้ศึกษาธรรมะ ตามวัดสำคัญของแต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงราย ที่ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน หรือวัดสำคัญ ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้เยาวชนได้ทราบถึงประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้ฝึกสมาธิ กิริยามารยาท ในขณะที่อยู่ในวัด รวมทั้งเห็นความสำคัญของพุทธศาสนาต่อการดำรงชีวิตของคนไทย

การทำการเกษตรแบบผสมผสานปลอดสารพิษ เยาวชนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนาและการทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษจากสวนเสมสรรพสิ่ง จังหวัดเชียงราย ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย-นาเฮียใช้ จังหวัดสุพรรณบุรี  เรียนรู้การจัดตั้งโรงสีรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดยโสธร เป็นต้น ทำให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการทำการเกษตรแบบปลอดภัย

เทคโนโลยี เยาวชนได้รับการกระตุ้นให้ตระหนักถึงเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวและที่จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น รวมถึงแนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะก้าวหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะลดบทบาทของมนุษย์ลง ซึ่งจะช่วยเปิดประสบการณ์และเป็นแนวทางในการศึกษาต่อของเด็กที่จะเลือกเรียนสาขาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่จะรองรับความต้องการต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่มีทั้งคุณและโทษในปัจจุบัน

 

สรุปผลการดำเนินกิจกรรม

  1. เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ศีลธรรมและจริยธรรม พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ได้มีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติ
  2. เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน เป็นการทำเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และมีคุณภาพสูง มีอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากโรคภัย
  3. เยาวชนได้ฝึกการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
  4. เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งชีวประวัติบุคคลสำคัญของโลกซึ่งอาจสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเลือกอาชีพต่อไปในอนาคต
  5. เยาวชนได้เรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เข้ากับชีวิตประจำวัน การเรียน และอาชีพของตนเองในอนาคต
  6. เยาวชนสามารถรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต ด้วยความมีน้ำใจนักกีฬา รู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยและมีความเชื่อมั่นในตนเอง

 

โครงการได้จัดกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชนไปแล้วใน 4 พื้นที่ ใน 4 ภาค ได้แก่

ภาคเหนือ ตัวแทนเยาวชนจังหวัดเชียงราย-พะเยา จำนวน 5 คน ระหว่างวันที่ 22 – 30 ตุลาคม 2561 (ระยะเวลา 9 วัน 8 คืน)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวแทนเยาวชนจังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จำนวน 11 คน ระหว่างวันที่ 27 – 31 มีนาคม 2562 (ระยะเวลา 5 วัน 4 คืน)

ภาคกลาง ตัวแทนเยาวชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี จำนวน 7 คน ระหว่างวันที่ 22 – 28 เมษายน 2562 (ระยะเวลา 7 วัน 6 คืน)

ภาคใต้ ตัวแทนเยาวชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 7 คน ระหว่างวันที่ 6 – 10 พฤษภาคม 2562 (ระยะเวลา 5 วัน 4 คืน)

 






โครงการรางวัลเสม อวอร์ด


เสม อวอร์ด (Sem Award)

รางวัลและแรงบันดาลใจจากเกียรติประวัติชีวิตและงาน

ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว

โดย มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว กับสมุนไพร

           เมื่อนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เพิ่งจบแพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาฯ รุ่นที่ ๘ เพียง ๒ ปี  ได้รับคำสั่งย้ายจากกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย จากแพทย์ประจำโรงพยาบาลเทศบาลนครสวรรค์ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในปี ๒๔๘๐ ซึ่งเพิ่งก่อสร้างขึ้นโดยการริเริ่มของพระพนมนครานุรักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย และชาวเชียงรายอุทิศที่ดิน แรงงานและทุนทรัพย์ ก่อสร้างขึ้นโดยไม่ใช้งบประมาณรัฐ ชาวบ้านมักเรียกว่า “โฮงยาไทย”  รัฐจัดงานพิธีเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๐ นั้นเอง ขณะนั้นบุคลากรมีจำนวนไม่ถึง ๑๐ คนต่อประชากรจังหวัดเชียงรายจำนวน ๔๔๓,๔๗๖ คน

ทำงานเช้ายันเย็น เย็นยันเช้า ไฟฟ้าเทศบาลขณะนั้นยังไม่มี เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินตอนกลางคืนจึงต้องอาศัยตะเกียงรั้ว หรือดีหน่อยมีตะเกียงเจ้าพายุ ทำงานอย่างถวายหัว แต่ก็หายเหนื่อยเพราะแรงศรัทธาของพี่น้องชาวเชียงราย”  จากคำบอกเล่าส่วนหนึ่งของนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว แสดงให้เห็นว่า โรงพยาบาลหัวเมืองสมัยนั้นยังขาดแคลนและลำบากในด้านต่างๆ นายแพทย์เสมไม่ท้อถอย ตรงกันข้ามกลับก่อเกิดแนวคิดการแก้ปัญหา กลายเป็นที่มาของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในหลายเรื่อง

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๘๔ – ๒๔๘๙)  ประเทศไทยประสบสภาวะขาดแคลนยา ทั้งหายากและยามีราคาแพงมาก  ส่งผลกระทบแก่คนเจ็บป่วยอย่างมาก รวมถึงทหารเดินทัพเข้าไปในป่าเกิดการล้มป่วยเป็นไข้มาลาเรียกันมาก ขณะนั้นยาควินินมีจำนวนจำกัด นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์รับมือกับปัญหานี้ด้วยการค้นคว้าความรู้และทบทวนภูมิปัญญาสมุนไพรมาใช้แก้ปัญหา  เหตุการณ์นี้กลายเป็นรูปธรรมการใช้สมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองด้านยาภายในประเทศได้  บทเรียนนี้นำมาสู่การจัดทำนโยบายในช่วงเวลาต่อมา

นายแพทย์เสมได้นำความรู้วิชาเคมีที่เคยเรียนมาในสมัยชั้นมัธยมโรงเรียนเทพศิรินทร์มาปรับใช้   คือ  การนำฝิ่นในประเทศมาผลิตมอร์ฟีนแก้ปวดเพื่อใช้แทนการสั่งซื้อฝิ่นจากอิหร่านซึ่งขาดแคลน  การพัฒนายาควินินจากยาเม็ดเป็นยาฉีด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษามาลาเรียขึ้นสมองให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากการพัฒนายาควินินเป็นยาฉีดแล้ว ท่านยังได้ศึกษาความรู้จากวารสารวิชาการโรคเมืองร้อนของอินเดีย เพื่อค้นหายาตัวอื่นมาช่วยคนป่วยไข้ มีการปรึกษาหารือความรู้กับหลวงสมานวนกิจ ป่าไม้จังหวัดเชียงรายในขณะนั้น เป็นการยืนยันว่า ต้นกาสามปีก (Vitex peduncularis Wall. Ex Schauer) รักษาโรคไข้จับสั่นหรือมาลาเรียได้  พบต้นกาสามปีกได้ทั่วไปและมีจำนวนมากบริเวณสนามบินเก่า บริเวณหลังโรงพยาบาล นายแพทย์เสมใช้ยาสมุนไพรช่วยเหลือทหารและคนป่วยมาลาเรียในช่วงสงคราม ในจำนวนนี้มีนายทหารคนสำคัญ คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ใช้สมุนไพรกาสามปีกรักษาจนหายป่วย

สมุนไพรอีกชนิดที่นายแพทย์เสมนำมาใช้รักษาคนป่วยเป็นบิด (Dysentery) โรคนี้อาจลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ตำราเมืองร้อนจากอินเดียระบุว่า มีสมุนไพรรักษาโรคนี้มาแต่พุทธกาล คือต้นโมกหลวง ซึ่งมีขึ้นทั่วไปในเชียงราย แต่ต้องระวังไม่ใช้ผิดต้น ไม่เอาต้นโมกมันมาแทน นายแพทย์เสมจึงให้นำเปลือกต้นโมกหลวงตากแห้งบดให้ละเอียด และบรรจุแคปซูลทดลองกับเชื้อบิดอะมีบา (Amoeba) บนกระจกสไลด์ พบว่าสามารถฆ่าเชื้อได้จริง  จึงนำมาใช้ในรักษาโรคบิดจำนวนมากในช่วงสงคราม

           จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหายาขาดแคลนด้วยการศึกษานำยาสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ จนผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาได้ ต่อมาจึงเป็นนโยบายและแนวทางการจัดหายาจำเป็นและนำสมุนไพรและการแพทย์พื้นบ้านมาใช้เพื่อให้ประเทศพึ่งตนเองได้ รูปธรรมและนโยบายดังกล่าวส่งผลมาถึงปัจจุบัน

 

ประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง

            ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบุรุษของสังคมไทยผู้สร้างคุณูปการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประเทศเป็นอเนกประการ ที่สำคัญได้แก่ เป็นศัลยแพทย์ไทยคนแรกที่สามารถผ่าตัดแฝดสยามได้เป็นผลสำเร็จ เป็นสูติแพทย์ที่วางรากฐานระบบโรงพยาบาลที่ดูแลสุขภาวะของแม่และเด็กอย่างครบวงจร เป็นผู้ผลักดันให้มีการสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดครบทุกจังหวัดและโรงพยาบาลอำเภอครบทุกอำเภอ ตลอดจนมีสถานีอนามัยครบทุกตำบลตามนโยบายกระจายบริการทางการแพทย์สู่ภูมิภาคของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละยุคที่ท่านเป็นผู้บริหาร ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังเป็นผู้นำการผ่าตัดโครงสร้างบริหารกระทรวงสาธารณสุขครั้งใหญ่ให้มีประสิทธิภาพหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โดยมุ่งจัดสรรงบประมาณไปทางด้านงานป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ มากกว่างานรักษาพยาบาล อันเป็นนโยบายสาธารณสุขของรัฐที่ยังดำเนินสืบต่อมาในปัจจุบัน

            ในยุคที่ท่านเป็นประธานกรรมการจัดทำแผนพัฒนาสาธารณสุขแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๔) ท่านได้ริเริ่มให้มีบริการสาธารณสุขแบบผสมผสานโดยพัฒนาส่งเสริมให้มีการใช้ยาสมุนไพรและภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของรัฐ  ยุทธศาสตร์สำคัญที่ต่อมาเป็นนโยบายสาธารณสุขที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน บุคลากรและประชาชนมีความร่วมมือกันมาก ความนิยมในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพที่เริ่มขึ้นในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือสนับสนุนวางรากฐานการสาธารณสุขมูลฐาน ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสาธารณสุขของชาติอย่างกว้างขวาง  

           

ที่มาของรางวัลเสม อวอร์ด

การที่แพทย์แผนใหม่ดังเช่นศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว มีวิสัยทัศน์พัฒนายาสมุนไพรและภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ในระบบบริการสมัยใหม่ น่าจะมาจากประสบการณ์โดยตรงของท่านในสมัยที่ต้องทำงานในท่ามกลางความยากลำบากและความขาดแคลนยา เวชภัณฑ์ เช่น การใช้น้ำฝนกลั่นทำน้ำเกลือฉีดเข้าหลอดเลือดดำให้ผู้ป่วยอหิวาต์เป็นจำนวนมากในช่วงที่เป็นแพทย์ฝึกหัดออกไปตั้งโรงพยาบาลเอกเทศปราบโรคระบาดอหิวาต์ที่อำเภออัมพวาจังหวัดสมุทรสงคราม และการใช้เปลือกต้นโมกหลวง (Holarrhena antidysenterica Wall.) บดผงบรรจุแคปซูลรักษาโรคบิด การใช้น้ำต้มใบต้นกาสามปีกรักษาไข้จับสั่นให้แก่ชาวบ้านและเหล่าทหารที่ไปรบที่เมืองเชียงตุง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในสมัยที่ท่านยังเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

ผลงานการแพทย์และสาธารณสุขในมิติต่างๆ ที่ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ได้ริเริ่มสร้างสรรค์ไว้มีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว และกัลยาณมิตรตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรในระบบสุขภาพ จึงเป็นที่มาของรางวัลเสม อวอร์ด สำหรับบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กร ผู้มีผลงานวิจัยสมุนไพรดีเด่นเนื่องในวาระ ๑๐๘ ปีชาตกาล ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม โดยเริ่มในปี ๒๕๖๒ เป็นปีแรก มีวัตถุประสงค์และการดำเนินงาน ดังนี้

 

วัตถุประสงค์

๑.        เพื่อสนับสนุนบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กร ที่มีผลงานด้านการวิจัย พัฒนา หรือส่งเสริมสมุนไพรในประเทศไทยให้ทำการศึกษาวิจัยหรือพัฒนาตัวยาสมุนไพรหรือตำรับยาสมุนไพรสำหรับการ                   รักษาให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

๒.        เพื่อจุดประกายงานวิจัยสมุนไพรโดยคนไทยให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างกว้างขวาง

๓.        เพื่อให้ผู้ป่วยที่ยากไร้มีโอกาสเข้าถึงยาสมุนไพรที่มีประสิทธิผลในการรักษา

๔.        เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ในการนำยาสมุนไพรเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยที่ยากไร้

 

หลักเกณฑ์ของการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับรางวัลเสม อวอร์ด

  1. มีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์และมีลักษณะกว้างขวางและต่อเนื่องพอสมควร
  2. มีผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากร
  3. มีผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติ และประชาชน

 

 

ขั้นตอนและระยะเวลาการคัดเลือกผู้รับรางวัลเสม อวอร์ด

ขั้นตอนสรรหา

คณะทำงานสรรหา ดำเนินการสรรหารายชื่อ “บุคคล คณะบุคคล หรือองค์กร” ที่มีผลงานด้านการวิจัย พัฒนา หรือส่งเสริมสมุนไพรในประเทศไทยดำเนินการสำเร็จมาแล้วอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน โดยอาจจะมีผลงานที่สำเร็จมากกว่าหนึ่งโครงการ

 

ขั้นตอนการพิจารณาตัดสินรางวัล

คณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษพิจารณาผลงานวิจัย เพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กร ประกอบกับผลงานวิจัยดีเด่น พร้อมทั้งทำเกณฑ์วินิจฉัยและถ้อยคำพิจารณา  ผลการตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลเสม อวอร์ด ของมูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ถือเป็นเด็ดขาด

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายละเอียดโครงการรางวัลเสม อวอร์ด ได้ที่ www.sem-foundation.org  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐-๒๒๖๐-๐๒๒๙

 

รายนามผู้ได้รับรางวัลเสม อวอร์ด ๒๕๖๒

 

 

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลประเภทการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านสมุนไพร

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับรางวัลประเภทการวิจัยและพัฒนาการใช้สมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ

รศ.ดร.ภญ. อรุณพร อิฐรัตน์  ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัย แพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้รับรางวัลประเภทการวิจัยและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในชุมชน

 

คณะกรรมการสรรหาผู้เหมาะสมเพื่อเข้ารับรางวัลเสม อวอร์ด ๒๕๖๒

  1. คุณสันติสุข        โสภณสิริ                                   ประธานกรรมการ
  2. ดร.นพ. โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์                          กรรมการ
  3. ดร.ภก. ยงศักดิ์   ตันติปิฎก                                    กรรมการ
  4. ดร.ภก. อนุวัฒน์  วัฒนพิชญากูล                           กรรมการ
  5. คุณชัชวาลย์       พริ้งพวงแก้ว                              กรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลเสม อวอร์ด ๒๕๖๒

๑.         คุณเกษม           สนิทวงศ์ ณ อยุธยา                    ประธานกรรมการ

๒.         รศ.ดร. สุกรี        เจริญสุข                                    รองประธานกรรมการ

๓.         คุณชัชวาลย์       พริ้งพวงแก้ว                              กรรมการและเลขานุการ

๔.         คุณชยดิฐ          หุตานุวัชร์                                   กรรมการและเหรัญญิก

๕.         คุณรัชนี             ธงไชย                                       กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

๖.         ดร. อุทัย            ดุลยเกษม                                  กรรมการ

 

คณะกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลเสม อวอร์ด ๒๕๖๒

๑.         คุณอานันท์        ปันยารชุน                                  ประธานกรรมการที่ปรึกษา

๒.         คุณสุลักษณ์      ศิวรักษ์                                       กรรมการที่ปรึกษา

๓.         นพ. วิชัย           โชควิวัฒน                                 กรรมการที่ปรึกษา

๔.         คุณปรีดา           เตียสุวรรณ์                                 กรรมการที่ปรึกษา

๕.         คุณประวิทย์       เยี่ยมแสนสุข                              กรรมการที่ปรึกษา

 

คณะกรรมการมูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว

๑.         คุณเกษม          สนิทวงศ์ ณ อยุธยา                     ประธานกรรมการ

๒.         คุณอิสระ           ว่องกุศลกิจ                                 รองประธานกรรมการ

๓.         คุณชัชวาลย์      พริ้งพวงแก้ว                              กรรมการ

๔.         คุณปิยะ            จิตตาลาน                                   กรรมการ

๕.         คุณสันติ           ภิรมย์ภักดี                                  กรรมการ

๖.         คุณปลิว            มังกรกนก                                   กรรมการ

๗.         คุณพิพัฒน์        เศวตวิลาศ                                 กรรมการ

๘.         คุณอัสสเดช      คงสิริ                                        กรรมการ

๙.         คุณภูมิใจ          ขำภโต                                      กรรมการ

๑๐.      ดร. กวิน             พริ้งพวงแก้ว                               กรรมการ

๑๑.      คุณอัจฉรา         สุนทรวาทิน                                กรรมการ เลขานุการ และเหรัญญิก

 

 








ผู้สนับสนุน
 



โครงการ

โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน

โครงการรางวัลเสม อวอร์ด

โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว

โครงการพ่อแม่อุปถัมภ์